.-.-. A I - K O .-.-.

nitchawan - ppuk - hinghoi - ssff   

older recent guestbook host design

เรื่องที่สมควรบันทึกไว้... // 2003-11-09

ไอโกะ...

แม่บ่นๆ กับอี๊นิดว่า ไม่ค่อยได้เขียนไดอารี่เลย อยากจะเขียนบ่อยๆ ความจริงเรื่องที่จะเขียนมันก็มีเยอะ แต่ถ้าเริ่ม ดูเหมือนจะต้องเขียนๆ ยาวๆ ทำให้ขี้เกียจ แม่ก็เลยว่าเราเขียนแบบสั้นๆ แบบวันนี้ไปไหนมา กินข้าวกับอะไร ถ้าจะดี ก็เลยโดนอี๊นิดอบรมว่าควรจะเขียนเรื่องอะไรที่มันเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ หน่อย ความจริง แม่ว่าไอ้การเขียนเรื่องธรรมดาๆ ในวันนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาอีกสิบปีข้างหน้าตอนที่หนูอ่านก็ได้นะ ใครจะไปรู้ อย่างถ้าแม่จะเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานนี้ดูเกมทศกัณฑ์ คนที่เป็นแชมป์ชื่อ วีสวัสดิ์ เค้าเก่งมากเลย เป็นแชมป์ตั้ง 48 สมัย ได้เงินเกือบสองล้านแล้ว

แม่ว่าอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า ถ้าเกมนี้ยังอยู่ มันก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้หนูร้องอู้ฮูได้ว่า โอ้โฮ เกมทศกัณฑ์ นี่มันมีตั้งแต่ตอนที่หนูเพิ่งเกิดเลยนะ นานจัง... แต่ถ้ามันเลิกไปแล้ว คำถามก็จะเป็นว่า เกมอะไรเหรอแม่ แล้วเค้าเล่นกันยังไง ....หรืออาจจะเป็น ได้แค่สองล้านแค่นั้นน่ะ น้อยจัง ซื้อทองได้สองบาทเอง...หรือว่าบางที คุณวีสวัสดิ์ คนนี้อาจจะกลายเป็นดาราดัง หรือรัฐมนตรี หรืออะไรสักอย่างก็ได้ ใครจะไปรู้...

เรื่องที่ตั้งใจจะเขียน

หลังจากที่คุยกับอี๊นิดแล้ว แม่ก็เลยมาทบทวนว่า มีอีกหลายเรื่องมากๆ ที่จัดได้ว่าเป็นเรื่องสมควรบันทึก อย่างเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่แม่ว่าน่าเขียนไว้ให้หนูอ่านแบบละเอียดๆ หน่อย

ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีลูก แม่ก็มีความตั้งใจที่แน่วแน่ว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด การอ่านจากหนังสือมันดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นมันช่างตรงกันข้าม

ก่อนหน้าที่จะมีลูกเอง แม่นึกสงสัยว่าทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะยอมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่านมแม่ดีและมีประโยชน์กว่านมผสมเป็นไหนๆ แม่เคยคุยเรื่องนี้กับอาม่า อาม่าก็มักจะบอกว่าคนสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน แม่เคยถามคนรู้จักว่าทำไมไม่ให้นมแม่ ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีน้ำนมบ้าง นมไม่พอบ้าง” อาม่าก็จะเล่าให้แม่ฟังว่า “แม่ไม่เชื่อหรอกที่ว่าไม่มีน้ำนมน่ะ เพราะมันเป็นธรรมชาติ พอคลอดลูก ร่างกายเราก็จะสร้างน้ำนมขึ้นมาเพื่อเลี้ยงลูก ขนาดแม่เองหัวนมบอดยุบเข้าไปข้างใน ยังเลี้ยงมาได้ตั้งสองคน แม่ว่าเขาไม่พยายามมากกว่า” ตอนนั้นฟังแล้วก็คล้อยตาม โดยไม่ได้นึกถึงความหมายของคำว่า “อดทน” และ “พยายาม” เลย

ระหว่างที่ตั้งท้องแม่ก็จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลายเล่ม อ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดว่าจะมีอะไรยากเย็นหรือเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำหรือวิธีการต่างๆ สารพัด เพราะเชื่อว่าการให้นมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆ ก็น่าจะทำได้ ในบรรดาหนังสือหลายเล่มที่อ่านนั้น มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งแม่คิดว่าดีมาก เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ* (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เขียนโดย Amy Spangler แปลและเรียบเรียงโดย เบญจวรรณ อุปัติศฤงค์) หน้าแรกมีข้อความไม่กี่บรรทัดว่า

ขอแสดงความยินดีกับคุณที่เลือกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเริ่มต้น

ต้องอดทน

เด็กบางคนสามารถดูดนมแม่เป็นทันที แต่ส่วนมากต้องใช้เวลาฝึกหัด

ต้องมีความพยายาม

คุณและลูกอาจใช้เวลาหลายวัน หรือหลายอาทิตย์ กว่าจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง

จงภูมิใจ

คุณกำลังให้ของขวัญพิเศษแด่ลูกของคุณ

เมื่ออ่านครั้งแรกแม่ไม่ได้ใส่ใจเลยกับคำว่า ต้องอดทน และต้องมีความพยายาม ทั้งๆ ที่ในหนังสือพิมพ์เป็นตัวหนาเพื่อต้องการเน้นให้เราตระหนัก จนกระทั่งแม่ได้ผ่านประสบการณ์จริงกับตัวเอง หลังจากนั้นกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง ถึงได้สังเกตเห็น

จริงๆ แล้วแม่โชคดีที่มีคนสำคัญสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของแม่ถึงสองคน ซึ่งได้แก่อาม่าและปาป๊าของหนู ไม่เช่นนั้น แม่คงจะไม่สามารถเลี้ยงหนูด้วยนมของแม่ได้อย่างตลอดรอดฝั่งเป็นแน่ เพราะมันมีทั้งปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างจริงๆ

เริ่มตั้งแต่การคลอดเลยล่ะ แรกเริ่มเดิมทีนั้น แม่ก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่เช่นกันว่าจะคลอดธรรมชาติ พยายามดูแลตัวเองอย่างดี แต่พอถึงเวลาคลอดจริง หลังจากรอเกือบสิบชั่วโมง พยายามเบ่งแล้วเบ่งอีก ในที่สุดคุณหมอก็บอกว่าต้องผ่าคลอด เพราะถ้าคลอดปกติ คงต้องใช้เครื่องมือช่วยดูด ซึ่งคุณหมอคิดว่าไม่ปลอดภัยสำหรับหนู ก็เลยผ่าคลอด พอพักฟื้นเสร็จออกมาอยู่ห้องพัก พยาบาลก็พาหนูมาให้ดูดนมแม่เพื่อกระตุ้นน้ำนม

หนูเก่งมาก ดูดนมเป็นโดยธรรมชาติ ดูดใหญ่เลย แต่โชคร้ายที่แม่ยังไม่มีนมให้หนูเลย ถามคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่าไม่ต้องกังวล ไม่เกิน 4-5 วัน ก็ต้องมีน้ำนม วันที่สองก็แล้ว วันที่สามก็แล้ว น้ำนมก็ยังไม่มา แม่สงสารหนูจัง ดูดเท่าไหร่ก็ไม่มี ร้องใหญ่เลย แม่ก็เลยโทรคุยกับป้านวล แล้วบ่นให้ฟัง ก็ได้คำแนะนำว่าให้ดื่มน้ำเยอะๆ แม่ก็สงสัยว่าเยอะแค่ไหน ป้านวลก็บอกว่าเยอะมากๆ ให้คิดถึงหลักความจริงง่ายๆ ว่า ร่างกายของเราเป็นโรงงานผลิตน้ำนม แล้ววัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำนมก็คือ น้ำ ถ้าเราดื่มน้ำไม่พอ ก็เท่ากับเราป้อนวัตถุดิบให้โรงงานไม่พอ แล้วจะมีผลผลิตได้อย่างไร แม่ก็เลยดื่มน้ำ 1 แก้ว ทุกช.ม.ทั้งวัน ได้ผลจริงๆ ตกกลางคืนก็รู้สึกคัดหน้าอก บีบดูก็มีน้ำนมหยดออกมา แม่ดีใจมาก เพราะนึกว่าแม่จะไม่มีนมให้หนูซะแล้ว

หลังจากนั้นแม่ก็เลยมาคุยกับป๊า ถึงได้เข้าใจว่าทำไมการผ่าคลอดจึงทำให้นมมาช้ากว่าคลอดธรรมชาติ เพราะการผ่าคลอดนั้น เราจะต้องงดน้ำและอาหาร 8 ช.ม. ก่อนผ่า และหลังผ่าอีกทั้งวัน แต่คนที่คลอดธรรมชาตินั้นคลอดเสร็จก็จะทานน้ำและอาหารได้เลย การงดน้ำและอาหารนานๆ นี้เอง ทำให้ร่างกายขาดวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำนม ทำให้นมมาช้านั่นเอง นี่เป็นเรื่องแรกที่ทำให้แม่เรียนรู้ถึงความอดทนในการให้นมแม่ เพราะถ้าเราไม่อดทน หนูคงจะได้นมผสมไปแล้ว

หลังจากอุปสรรคด่านแรกผ่านไปได้ ด่านที่สองก็ตามมาติดๆ หลังจากครบสี่วัน เราสองคนก็พาหนูกลับบ้าน วันกลับคุณพยาบาลก็มาสอนวิธีบีบน้ำนมจากอก เก็บไว้เผื่อเวลาที่ไม่อยู่บ้าน คุณพยาบาลดูแล้วก็บอกว่าน้ำนมน่าจะพอเลี้ยงลูกโดยไม่ต้องพึ่งนมผสม แต่ก็ให้นมผสมชงแล้วมา 1 ขวด (2 OZ.) คงจะไว้ให้กันเหนียว กลับมาถึงบ้านแม่ก็เก็บใส่ตู้เย็นไว้ก่อน ปรากฎว่าป๊าเปิดเจอ เลยเอาไปเททิ้ง แบบว่าทุบหม้อข้าวจะไปตีเมืองจันท์(ถ้าหนูไม่รู้จักสำนวนนี้ แม่จะอธิบายให้ฟังทีหลังนะ) ตกกลางคืนก็ได้เรื่องเลย หนูร้องลั่นบ้าน แม่พยายามให้ดูดนมจากอกเท่าไหร่ก็ดูเหมือนไม่สำเร็จ ใช้มือบีบเพื่อจะเอามาป้อนก็ออกมาแค่สองสามหยด ได้แค่ติดปลายช้อนเท่านั้นเอง ทั้งบ้านไม่มีนมผสมเลย หนูก็ร้องไม่หยุด จนแม่ต้องร้องตาม พยายามให้ดูดกันต่อไป จนสุดท้ายหนูก็หลับไป ก็ไม่รู้ว่าอิ่มหรือเหนื่อยกันแน่

ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ เริ่มคลอนแคลนอย่างมากในช่วงสามสี่วันแรกนี่เอง ด้วยความที่หนูร้องเก่งมาก อาเน่ก็จะคิดว่ากินไม่อิ่ม นมแม่ไม่พอ ควรจะให้นมผสมเพิ่ม ทำให้แม่ชักไม่แน่ใจ ต้องเปิดตำราสารพัดเล่มดูใหม่ แล้วก็โทรไปปรึกษาคลีนิคนมแม่ของร.พ.ศิริราช แล้วก็ได้รับคำแนะนำที่ดี ทำให้สู้ต่อไป ทั้งๆ ที่แม่ก็รู้สึกกลุ้มใจมาก) ตลอดเดือนแรก ลุงป้าน้าอาทั้งหลายมาเยี่ยม พอรู้ว่าจะเลี้ยงนมแม่อย่างเดียว ก็มีแต่คนไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ หาว่านมแม่สู้นมผสมไม่ได้บ้าง เดี๋ยวหนูจะหย่านมยากบ้าง ตอนนั้นถ้าป๊าไม่หนักแน่นและเชื่อมั่นเสียคน หนูก็คงได้นมผสมด้วยอีกจนได้

ความลำบาก (ในความรู้สึกของแม่ แต่สำหรับคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องปกติ) อีกประการหนึ่งของการให้นมแม่ก็คือ นมแม่จะย่อยเร็ว หนูจะถ่ายบ่อยมาก และหิวบ่อย ต้องให้ดูดทั้งวันทั้งคืน ช่วงแรกแทบจะทุก ช.ม. หลังๆ ถึงจะได้ 2-3 ช.ม. บ้าง ดูดแต่ละครั้งก็นาน บางครั้งนานเกือบช.ม. ก็มี ทำให้แม่เพลียและเหนื่อยมาก ตามตำราที่ว่าควรจะฝึกให้เด็กกินเป็นเวลาทุก 4 ช.ม. แม่ไม่เคยทำได้เลย

ผ่านไปได้สองเดือน แม่ภูมิใจมากที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ต้องพึ่งนมผสม ในตู้เย็นก็มีนมซึ่งปั๊มเก็บแช่แข็งไว้หลายขวด เผื่อเวลาออกไปนอกบ้าน รู้สึกว่าแม่มีนมเหลือเฟือจริงๆ แต่แล้วก็มีอุปสรรคอีกจนได้ เมื่อแม่รู้สึกปวดหลังมาก ทำให้ต้องหยุดให้นมหนูตอนกลางคืน (ให้นมที่ปั๊มเก็บไว้แทน) แต่ตอนกลางวันยังให้อยู่ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่ 4-5 วันที่แม่หยุดให้นมนั้น ทำให้ปริมาณน้ำนมที่เคยคิดว่ามีอย่างเหลือเฟือนั้นลดน้อยลงไปทันตาเห็น ทำให้แม่ต้องเที่ยวไปขอคำแนะนำจากใครต่อใคร แล้วก็โทรไปหาคลีนิคนมแม่อีกครั้ง ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้บำรุงร่างกายมากๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และให้ลูกดูดบ่อยๆ เหมือนเดิม ในที่สุดน้ำนมก็กลับมามีอีก แม้ว่าจะไม่เหลือเฟือเหมือนช่วงแรก แต่ก็พอให้หนูกินได้

จนถึงตอนนี้หนูครบขวบไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง แม่รู้สึกดีจริงๆ ที่เราร่วมมือกันได้สำเร็จตามเป้าหมายจนได้ ไชโย...

ป.ล. ตลอดเวลา 1 ปี หนูไม่สบายครั้งเดียวเอง เพราะติดจากแม่ไปเต็มๆ ด้วยความที่แม่ชะล่าใจ คิดว่าหนูแข็งแรงมากๆ ทั้งๆ ที่แม่ก็เป็นไข้หวัด ยังกอดฟัดหนูทั้งวัน เลยติดกันจนได้ คราวนี้แม่เลยบอกใครๆ ได้เต็มปากว่าเด็กกินนมแม่ มีภูมิคุ้มกันทำให้แข็งแรงจริงๆ แถมยังประหยัดค่านม แล้วก็ค่าหมออีกด้วยนะ

prev // next